เรื่องของพลังงาน

 


ตอน พลังงานที่มีการนำมาใช้บนโลก

     

กลับมาเจอกันอีกครั้งใน "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว" ก็หวังว่าคุณผู้อ่านคงยังไม่เบื่อกับเรื่องราวดีๆ ที่มีมานำเสนออย่างต่อเนื่อง และนี่เป็นอีกหนึ่งตอนสำคัญที่คุณไม่ควรพลาด... พลังงานทั้งมวลที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง แล้วพลังงานเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่ไหนและอย่างไร

พลังงานที่มีการนำมาใช้

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นรากฐานแห่งพลังงานบนโลก แต่ยังมีหลายคนที่ไม่รู้ว่า พลังงานทั้งหมดที่ใช้กันอยู่นั้นไม่ได้มาจากดวงอาทิตย์เพียงแหล่งเดียว ภายในโลกก็มีพลังงานให้นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า แหล่งพลังงานหลักของโลกคือ พลังงานจากนอกโลก ได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy), พลังงานลม (Wind energy), พลังน้ำ (Hydropower energy), พลังงานคลื่นในทะเล (Wave energy), พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal energy), พลังงานชีวมวล (Biomass energy), ถ่านหิน, น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สำหรับแหล่งพลังงานรองลงมาคือ พลังงานจากภายในโลก เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal energy) และพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen energy)

ในยุคก่อนที่การปฏิวัติเกษตรกรรมจะเริ่มขึ้น มนุษย์รู้จักนำพลังงานมาใช้แล้ว โดยเริ่มแรกแหล่งพลังงานของมนุษย์มาจากพลังงานภายในร่างกายตนเอง เป็นแรงกำลังจากกล้ามเนื้อที่เกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีทั้งอาหารจากพืชที่อาศัยการสังเคราะห์แสงและอาหารจากสัตว์ มนุษย์ต้องใช้ความพยายามอย่างยาวนานกว่าจะสามารถควบคุม จัดการการใช้พลังงานได้ เริ่มจากการใช้แรงงานสัตว์ เช่น ม้า, ล่อ, วัว, อูฐหรือช้างในการเดินทางหรือบรรทุกสิ่งของ แล้วยังมีการใช้ความร้อนและแสงสว่าง นอกจากนี้แรงลมก็ถูกนำมาใช้แล่นเรือใบและหมุนกังหัน ซึ่งรวมถึงแรงน้ำที่ถูกใช้หมุนกังหัน
ครั้นต่อมาในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการผลิตสินค้าซึ่งใช้จากแรงงานคน สัตว์และพลังน้ำ ภายหลังมีการสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าซึ่งใช้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานมาก โดยมาจากการเผาไหม้ของถ่านหิน จากนั้นมีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำที่แปลงพลังงานเคมีในเชื้อเพลิง (ถ่านหิน) เป็นพลังงานความร้อนให้พลังงานแก่เครื่องยนต์ เรียกว่า เครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายนอก และในเวลาต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายใน จึงทำให้ยานยนต์เริ่มเป็นที่นิยมใช้นับแต่นั้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีการนำพลังงานจากใต้ผิวโลกมาใช้ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน, ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเหล่านี้ทวีมากขึ้นๆ มนุษย์จึงได้พยายามคิดค้นหาหนทางที่จะนำพลังงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์

ปัจจุบัน พลังงานได้ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถนำมาใช้ได้โดยเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานความร้อน หรือใช้เซลล์แสงอาทิตย์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและความร้อน, พลังงานลม นำแรงลมมาหมุนกังหันลม ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้, พลังน้ำ แรงอัดดันของน้ำที่ปล่อยจากแหล่งกักเก็บนำไปหมุนกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า, พลังงานคลื่นในทะเล อาศัยการเคลื่อนไหวในแนวตั้งและการพองตัวของคลื่นเป็นแรงกดอากาศไปหมุนกังหันในการผลิตไฟฟ้า, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง การไหลเข้าและออกของน้ำจากอ่างเก็บน้ำเมื่อน้ำขึ้นและน้ำลง สามารถนำไปหมุนกังหันน้ำและผลิตไฟฟ้าได้, พลังงานชีวมวล สิ่งที่เหลือทิ้งจากการเกษตรนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตรและมูลสัตว์นำมาหมักผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ, ถ่านหิน มีการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วยังใช้เป็นแหล่งพลังงานในโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานกระดาษและโรงงานผงชูรส ฯลฯ, น้ำมันดิบ เมื่อนำมากลั่นจะได้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ใช้ในยานพาหนะ และในภาคอุตสาหกรรม น้ำมันเบนซิน ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ น้ำมันก๊าด ใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างและใช้ในภาคอุตสาหกรรม น้ำมันเครื่องบิน ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินใบพัดและเครื่องบินไอพ่น น้ำมันดีเซล ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถบรรทุก รถกระบะ รถไฟและรถโดยสาร น้ำมันเตา ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ในโรงงานที่มีเตาเผาหรือหม้ออัดไอน้ำและใช้กับเรือ ยางมะตอย นำมาใช้ทำถนน เคลือบท่อและเคลือบโลหะกันสนิม และก๊าซธรรมชาติ เมื่อนำไปแยกจะได้ก๊าซหลายชนิดดังนี้ ก๊าซมีเทน ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ ก๊าซอีเทนและโพรเพน ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนก๊าซโพรเพนและบิวเทน นำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้ม เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์
พลังงานความร้อนใต้พิภพ น้ำร้อนที่อยู่ใต้ผิวดินมีความร้อนสูงมาก สามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่พลังงานชนิดนี้จะมีเฉพาะในสภาพภูมิประเทศบริเวณที่ภูเขาไฟยังครุกรุ่นและบริเวณที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ เป็นต้น ซึ่งพบได้ที่ประเทศแถบตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิตาลี กรีซและไอซ์แลนด์ ฯลฯ และพลังงานไฮโดรเจน มีการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือแปลงเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้ในยานพาหนะ หมุนกังหันหรือเซลล์กำเนิดไฟฟ้า รวมถึงให้ความร้อนและไฟฟ้าแก่อาคารสำนักงาน นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอมโมเนีย การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและการสังเคราะห์เมธานอล รวมถึงใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระสวยอวกาศและจรวด เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน ไฟฟ้า และทำน้ำบริสุทธิ์ให้กับนักบินอวกาศและลูกเรืออีกด้วย

จะเห็นได้ว่า เราใช้ประโยชน์จากพลังงานได้อย่างมากมาย แล้วยังมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย... คุณลองคิดเล่นๆ ดูสิว่าสิ่งที่คุณทำในวันหนึ่งๆ เกี่ยวข้องกับพลังงานอะไรบ้าง และรอพบกันในฉบับหน้า ซึ่งจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับพลังงานต่างๆ อย่างเต็มที่ แล้วมีการจัดกลุ่มพลังงานไว้อย่างไร