เรื่องของพลังงาน

 


ตอน พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่มีการนำมาใช้

     

การแสวงหาพลังงานแหล่งใหม่ได้ถูกยกขึ้นมาพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อแทนที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปริมาณจะลดน้อยลงไปทุกที ถ้าความมุ่งหวังดังกล่าวสำเร็จ จะส่งผลทั้งต่อวิถีชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของโลกในทางที่ดียิ่งขึ้นไป
เส้นทางสู่พลังงานสีเขียวฉบับนี้ขอขยายความถึงการนำ "พลังงานหมุนเวียนที่เป็นผลจากดวงอาทิตย์โดยตรง" ไปใช้ประโยชน์ในลักษณะของระบบพลังงานแสงอาทิตย์และระบบผลิตความร้อนจากแสงอาทิตย์

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy systems)
ตัวอย่างของระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีดังต่อไปนี้

  • ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งอิสระ (Stand-alone solar systems) เหมาะแก่การนำไปใช้ในทุกพื้นที่ซึ่งระบบสายส่งของการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง, ระบบสายส่งมักเกิดปัญหาหรือมีค่าใช้จ่ายสูงในการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้ ฯลฯ
    ระบบต้องมีแบตเตอรี่ในการเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ไว้ใช้ต่อไป พร้อมกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องควบคุมการประจุกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และอาจเพิ่มเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับได้ การประยุกต์ใช้งานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งอิสระ เช่น ระบบประจุแบตเตอรี่ (Battery charging system) และระบบสูบน้ำ (Water pump system) เป็นต้น

  • ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่อเชื่อมระบบสายส่ง (Grid connected solar systems) เป็นระบบที่ต่อเชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์หากมีมากเกินความต้องการก็สามารถขายคืนให้กับระบบสายส่งได้ ในทางตรงข้าม ถ้าไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอก็ดึงเข้ามาใช้จากระบบสายส่ง
    ระบบประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า และแน่นอนว่าต้องต่อเชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้าพร้อมด้วยมิเตอร์วัดจำนวนหน่วยของไฟฟ้าในการซื้อ-ขายกับระบบสายส่ง การประยุกต์ใช้งานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่อเชื่อมระบบสายส่ง เช่น ระบบสำรองไฟฟ้า (Back-up system) เป็นต้น

    ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่อเชื่อมระบบสายส่ง ขนาด 40 kW พร้อมระบบแสดงผล ติดตั้งและใช้งานที่บริษัท เซนต์โกเบน ซิคิวริท (ไทยแลนด์) จำกัด
    ระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบ 3 เฟส กำลังการผลิตไฟฟ้า 10 kW ติดตั้งอยู่ภายในโครงการสวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ระบบผลิตความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar thermal systems)

  • ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar water heating) ประกอบด้วย collector ในการรวมพลังงานจากดวงอาทิตย์แล้วแปลงเป็นความร้อนและถังเก็บน้ำ (ไม่ต้องใช้ในระบบผลิตความร้อนสำหรับสระว่ายน้ำ) แบ่งเป็น
    • การผลิตน้ำร้อนชนิดไหลเวียนตามธรรมชาติ (Passive system) เป็นระบบที่อาศัยแรงดึงดูดและแรงโน้มถ่วงของโลกให้น้ำไหลเวียนตามธรรมชาติเมื่อได้รับความร้อน มีถังเก็บน้ำอยู่สูงกว่าแผงรับแสงอาทิตย์ แบ่งเป็น Batch heaters ใช้ถังเก็บน้ำหุ้มฉนวนตั้งตรงจุดที่รับแสงอาทิตย์และต่อท่อน้ำเย็นผ่าน collector ที่ดูดกลืนความร้อนจากดวงอาทิตย์กลายเป็นน้ำร้อนจ่ายออกไปใช้และ Thermosiphon systems ที่ถังเก็บน้ำจะติดตั้งไว้สูงกว่า collector เมื่อน้ำได้รับความร้อนจาก collector จะไหลขึ้นสู่ถังเก็บน้ำ ในขณะที่น้ำเย็นจะไหลลงไปที่ collector

    • การผลิตน้ำร้อนชนิดใช้ปั๊มน้ำหมุนเวียน (Active systems) เป็นระบบที่ต้องใช้ปั๊ม, วาล์วและตัวควบคุมเพื่อไหลเวียนน้ำหรือของเหลวที่ถ่ายเทความร้อนได้ดีผ่าน collector เหมาะสำหรับใช้ผลิตน้ำร้อนปริมาณมากและมีการใช้ต่อเนื่อง เช่น Direct systems ใช้ปั๊มในการไหลเวียนน้ำจากถังเก็บน้ำผ่าน collector และกลับเข้าสู่ถัง ซึ่งจะมีตัวควบคุมการทำงานของปั๊ม, Indirect systems ตัวรับความร้อนจะทำให้ของเหลวที่ถ่ายเทความร้อนได้ดีร้อนขึ้นและไหลเวียนในท่อผ่านถังเก็บน้ำและ Drainback systems ใช้วาล์วที่จะระบายน้ำโดยอัตโนมัติจาก collector เมื่ออุณหภูมิลดลงถึงจุดเยือกแข็งและจะระบายน้ำกลับหากปั๊มหยุดทำงาน ฯลฯ
  • ความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เพียงแต่นำมาทำน้ำร้อนให้แก่อาคารบ้านเรือนเท่านั้น ยังสามารถนำมาผลิตความร้อนและความเย็นให้แก่อาคาร คลังสินค้า โรงงานต่างๆ หรือนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้อีกด้วย รวมถึงระบบทำความเย็นแบบดูดกลืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และการอบแห้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จะใช้แสงอาทิตย์ในการให้ความร้อนแก่ของเหลวเพื่อผลิตไอสำหรับนำไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า


จุดหมายปลายทางของเส้นทางสู่พลังงานสีเขียว ได้สิ้นสุดลงตรงนี้ แล้วคุณล่ะ...จะเลือกไปตามเส้นทาง (การใช้พลังงาน) ไหน มุ่งไปสู่จุดหมายใด คุณจะก้าวต่อไปตามเส้นทางเก่าที่ยึดอยู่กับพลังงานรูปแบบเดิมหรือลองค้นหาเส้นทาง (การใช้พลังงาน) ใหม่ที่แตกต่างออกไป สุดแท้แต่คุณจะเป็นผู้กำหนด แต่ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใด ขอฝากไว้ "ควรใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าที่สุด"


* ภาพจากบริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด