เรื่องของพลังงาน

 


ตอน การบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์

     

เข้มข้นมากขึ้นทุกทีสำหรับเรื่องราวใน "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว" และเนื้อหาที่นำมาฝาก "การบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์" ถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำหลังจากที่ได้มีการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไปแล้ว ถ้ายึดถือคติที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ก็จะแน่ใจได้ว่าปัญหาเล็กไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่เด็ดขาด!

ไม่ว่าจะเป็นระบบผลิตพลังงานใดๆ ก็ต้องมีการบำรุงรักษาทั้งสิ้น ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ก็ต้องได้รับการบำรุงรักษาเช่นเดียวกันและต้องทำอย่างสม่ำเสมอแต่ใช้เวลาน้อยกว่าระบบผลิตพลังงานอื่นๆ อุปกรณ์ในระบบเซลล์แสงอาทิตย์อาจพบว่าต้องได้รับการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนถ้าไม่อยู่ในสภาพดี ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของระบบจะขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการตรวจสอบทุกชิ้นส่วนของระบบและทำการบำรุงรักษาเชิงป้องกันเมื่อจำเป็น ผู้ใช้งานสามารถทำการตรวจสอบและบำรุงรักษาได้ด้วยตนเอง (User maintenance) ควรทำทุก 1 เดือนและการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) ควรทำทุก 6 เดือน เพราะหากตรวจพบปัญหาใดๆ จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

การบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์โดยผู้ใช้งาน

ผู้ใช้งานย่อมจะสังเกตเห็นเมื่อระบบเซลล์แสงอาทิตย์เกิดปัญหาขึ้น นั่นหมายถึงต้องมีการตรวจสอบระบบ แล้วก็ต้องบันทึกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไว้ นอกจากนี้ทุกชิ้นส่วนของระบบต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อให้ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจสอบการทำงานของเครื่องควบคุมการประจุ, ตรวจสอบแบตเตอรี่และเติมสารละลายอิเล็กโตรไลต์ถ้าจำเป็น, ตรวจสอบการต่อสายไฟและจุดเชื่อมต่อว่าหลวมหรือถูกกัดกร่อนหรือไม่ ฯลฯ , หากพบชิ้นส่วนใดเสีย ต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทันที รวมถึงการทำความสะอาด เช่น ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยผ้าและน้ำสะอาดเท่านั้น แล้วต้องระวังไม่ให้เกิดรอยบนแผงและให้แผงได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ ระบบจะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มอุปกรณ์เข้าไปในระบบโดยพลการ เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้ระบบเกิดปัญหาได้ และขอย้ำว่า "ต้องบันทึกทุกกิจกรรมที่ทำในระหว่างการบำรุงรักษาทุกครั้ง"


การบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์เชิงป้องกัน

  • แผงเซลล์แสงอาทิตย์
    ให้ตรวจสอบการยึดของแผง ต้องแข็งแรงและมั่นคง ถ้าหลวมต้องขันให้แน่น, กระจกที่ผิวหน้าต้องไม่แตก ถ้าแตกต้องเปลี่ยนแผงใหม่, การยึดของสายไฟและจุดเชื่อมต่อรวมถึงซีลกันน้ำต้องยังอยู่ในสภาพดีและต้องดูไม่ให้มีร่มเงาบังแผง ถ้ามีให้จัดการเคลื่อนย้ายสิ่งที่บดบังเหล่านั้นเสีย

  • สายไฟ
    เริ่มจากการตรวจสอบฉนวนของสายไฟ ไม่ให้แตกหัก, ใช้สายไฟถูกประเภทการใช้งานและขนาดเหมาะสมกับระบบ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นให้จัดการเปลี่ยนสายไฟ, การเดินสายไฟต้องแน่นหนาดีและสายไฟในส่วนที่ยึดติดกับตัวอาคารต้องแข็งแรง มั่นคงและจุดเชื่อมต่อไม่ถูกกัดกร่อนหรือรัดแน่นเกินไป

  • เครื่องควบคุมการประจุ
    ตรวจสอบว่าเครื่องควบคุมการประจุถูกติดตั้งไว้หนาแน่นหรือไม่ ถ้าไม่แน่นให้ยึดด้วยสกรู, ตรวจสอบไม่ให้มีสายไฟหลวม, ให้เปิดฝาเครื่องออกมาตรวจสอบและทำความสะอาดหลังจากตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย

  • แบตเตอรี่
    ในบรรดาอุปกรณ์ของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมด แบตเตอรี่ต้องได้รับการบำรุงรักษามากที่สุดเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งควรทำทุก 2-3 เดือน โดยแบ่งตามประเภทของแบตเตอรี่ดังนี้
    • แบตเตอรี่แบบเติมน้ำ: ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อต่างๆ ว่ายังแน่นอยู่และไม่ถูกกัดกร่อน จากนั้นทำความสะอาด รวมถึงตรวจสอบทุกเซลล์ด้วยไฮโดรมิเตอร์พร้อมกับบันทึกค่าที่อ่านได้ (แรงดันไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งค่าที่ต้องบันทึกไว้ด้วย) ถ้าเซลล์ใดมีระดับน้ำต่ำให้เติมน้ำกลั่น การตรวจสอบฝาของแบตเตอรี่ก็ไม่ควรละเลย ถ้าหายหรือแตกต้องเปลี่ยนฝาใหม่ แล้วทำความสะอาดตัวแบตเตอรี่ด้วยผ้าและน้ำสะอาด
    • แบตเตอรี่แบบไม่ต้องดูแลรักษา: ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อต่างๆ ให้แน่นหนาและไม่ถูกกัดกร่อน, ทำความสะอาดด้านบนของแบตเตอรี่โดยใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง สำหรับตัวแบตเตอรี่ก็ให้ทำความสะอาดด้วยผ้าและน้ำสะอาด

หมายเหตุ:

  • ควรใช้เครื่องควบคุมการประจุร่วมกับแบตเตอรี่เพื่อป้องกันการประจุไฟฟ้ามากเกินไป
  • แบตเตอรี่ใหม่ต้องทำการประจุไฟฟ้าให้เต็มก่อนนำไปใช้งานครั้งแรก
  • การป้องกันจุดเชื่อมต่อแบตเตอรี่ไม่ให้ถูกกัดกร่อน คือ ทำความสะอาดและทาจาระบีหรือวาสลีน โดยไม่ให้เลอะออกไปบริเวณอื่น
  • เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า
    ตรวจสอบว่าเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าได้ถูกติดตั้งห่างจากแบตเตอรี่ประมาณ 1.5-3 เมตรและติดตั้งในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากติดตั้งภายนอกอาคารควรมีที่กำบังหรือป้องกัน, ตรวจสอบไม่ให้มีสายไฟหลวมและอย่าใช้สายไฟขนาดต่ำกว่าที่ต้องใช้จริงในการต่อระหว่างแบตเตอรี่และเครื่องเแปลงกระแสไฟฟ้า
  • อุปกรณ์ไฟฟ้า
    ให้ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกเครื่องทำงานเป็นปกติดี โดยเปิดสวิตช์ก่อนตรวจสอบ ในเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ถ้ายึดไม่แน่นต้องจัดการให้มั่นคง แข็งแรง แล้วทำความสะอาดภายนอกอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด


ต้องมีการบันทึกการบำรุงรักษาทุกครั้งที่ทำการบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะเมื่อใดที่พบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบ บันทึกการบำรุงรักษาจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญ แล้วควรหมั่นอ่านบันทึกที่จดไว้อย่างสม่ำเสมอด้วย จะช่วยบอกถึงสิ่งที่ผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของระบบได้ บันทึกดังกล่าวนี้ควรจดลงในสมุดจดบันทึกเล่มเล็ก เป็นสมุดจดรายการการบำรุงรักษาต่างๆ (Maintenance log) ให้เก็บไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบได้สะดวกเมื่อต้องการ ในการติดตั้งครั้งแรก สิ่งที่ต้องบันทึก ได้แก่ ชื่อผู้ผลิต, รุ่น, หมายเลขเครื่องและคุณสมบัติของแต่ละชิ้นส่วน รวมถึงผังวงจรไฟฟ้าที่แสดงขนาดของสายไฟ จากนั้นทุกครั้งที่ทำการบำรุงรักษา ควรบันทึกรายละเอียด เช่น วันที่, ปัญหาพร้อมรายละเอียดและงานที่ทำ ฯลฯ รวมถึงถ้ามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ก็ต้องบันทึกไว้ด้วย

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์เมื่อใช้งานไป อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ (ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากจะให้เกิด...) แต่หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบแล้ว ก็จะต้องค้นหาสาเหตุและแนวทางในการจัดการเรื่องต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ เรามาร่วมค้นหาเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ไปกับ "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว" ในตอนต่อไป


ข้อมูลอ้างอิง: PV Solar Photovoltaic Technical Training Manual by Mr. Herbert Wade
ที่มาของภาพ: Leonics