เรื่องของพลังงาน

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไฟฟ้า


การวัดกระแสไฟฟ้า, แรงดันไฟฟ้า และความต้านทาน

วิธีวัดค่ากระแสไฟฟ้า
เครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดกระแสไฟฟ้าเรียกว่า แอมมิเตอร์ (Ampere meter)
ตัวอย่างการวัด ทำการต่อหลอดไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ากับแบตเตอรี่ และวัดกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านหลอดไฟฟ้า โดยนำปลาย + ของแอมมิเตอร์ผ่านหลอดไฟฟ้าต่อกับขั้ว + ของแบตเตอรี่ และนำปลาย - ของแอมมิเตอร์ต่อกับขั้ว - ของแบตเตอรี่ ดังรูป

ข้อควรระวังในการวัดกระแสไฟฟ้า ดังนี้

  1. แอมมิเตอร์แต่ละเครื่องมีการกำหนดขีดจำกัดในการวัดกระแสไว้ ดังนั้น ในการวัดแต่ละครั้งควรประมาณปริมาณกระแสที่จะวัดก่อน เพื่อเลือกใช้แอมมิเตอร์ที่มีขีดจำกัดที่เหมาะสม
  2. อย่าต่อปลาย + และ - ของแอมมิเตอร์ผิดพลาด เพราะจะทำให้เข็มของเครื่องวัดตีกลับ
  3. ห้ามต่อปลายทั้งสองของแอมมิเตอร์กับขั้วทั้งสองของแบตเตอรี่โดยตรง เพราะเข็มของเครื่องวัดจะตีจนสุดสเกล อาจทำให้พังได้

วิธีวัดค่าแรงดันไฟฟ้า
เครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดแรงดันไฟฟ้าเรียกว่า โวลต์มิเตอร์ (Voltmeter)
ตัวอย่างการวัด ทำการต่อหลอดไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ากับแบตเตอรี่ และวัดแรงดันไฟฟ้าคร่อมหลอดไฟฟ้า โดยต่อโวลต์มิเตอร์ขนานกับหลอดไฟฟ้า ปลาย + ของโวลต์มิเตอร์ต่อกับขั้ว + ของแบตเตอรี่ และปลาย - ของโวลต์มิเตอร์ต่อกับขั้ว - ของแบตเตอรี่ ดังรูป

ข้อควรระวังในการวัดแรงดันไฟฟ้า คือ

  1. โวลต์มิเตอร์แต่ละเครื่องมีการกำหนดขีดจำกัดในการวัดแรงดันไฟฟ้าไว้ ดังนั้น ในการวัดแต่ละครั้งควรประมาณปริมาณแรงดันไฟฟ้าที่จะวัด และเลือกใช้โวลต์มิเตอร์ที่มีขีดจำกัดที่เหมาะสม
  2. อย่าต่อปลาย + และ - ของโวลต์มิเตอร์ผิดพลาด

วิธีวัดค่าความต้านทาน
เครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดความต้านทานเรียกว่า เทสต์มิเตอร์ (Test meter) หรือมัลติมิเตอร์ (Multimeter)
ตัวอย่างการวัด เครื่องวัดชนิดนี้สามารถวัดได้ทั้งกระแส, แรงดัน และความต้านทาน ดังนั้น ในการวัดค่าความต้านทาน ต้องสับสวิตช์มาที่ใช้วัดความต้านทานก่อน และเริ่มวัดค่าโดยนำปลายทั้งสองข้างของมิเตอร์มาแตะกัน ดังรูปที่ 1 แล้วปรับให้เข็มของมิเตอร์ชี้ที่ 0 โอห์ม จากนั้นนำปลายทั้งสองของมิเตอร์ไปต่อกับตัวต้านทานและอ่านค่าความต้านทานจากมิเตอร์ ดังรูปที่ 2